ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนพูดแบบไม่เป็นทางการว่ามี ‘อาการตื่นตระหนก’ และ ‘อาการวิตกกังวล’ ทั้งสองอย่างนี้มีอาการเหมือนกัน อาทิ หัวใจเต้นเร็ว หายใจตื้น และรู้สึกเครียด แม้จะไม่มีอะไรที่เป็นอันตรายแต่การรู้จักความแตกต่างระหว่าง 2 อาการนี้ (แอบบอกก่อนเลยว่าทั้งสองไม่เหมือนกัน) จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากขึ้นพูดถึงอาการและประสบการณ์ของตัวเอง และขอรับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม
อาการตื่นตระหนกคืออะไร
อาการตื่นตระหนกคือความหวาดกลัวรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบกะทันหันซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางจิตวิทยาและสรีรวิทยาโดยไม่มีสิ่งที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นจริงหรือสาเหตุที่ชัดเจน อาการนี้จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นแม้กระทั่งในขณะที่นอนหลับอยู่
จะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีอาการตื่นตระหนก
โดยสรุป มันรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องจริง ประหนึ่งว่าสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวมีอยู่จริงและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ในการตอบสนอง สมองสั่งให้ระบบประสาทซิมพาเทติกตอบสนองด้วยวิธี ‘หนีหรือสู้’ จะมีสารเคมีหลายชนิดหลั่งออกมาทั่วร่างกายซึ่งรวมถึงฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา ตัวอย่างเช่น อัตราการเต้นหัวใจและการหายใจเร็วขึ้นและเลือดไหลไปที่กล้ามเนื้อเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อสู้หรือวิ่งหนี
อีกทั้ง คนที่มีอาการตื่นตระหนกจะมีเหงื่อออก หายใจติดขัด ตัวสั่น วิงเวียนและหน้ามืด คลื่นไส้และน้ำตาไหล
ประชากรประมาณ 35% เคยมีอาการตื่นตระหนกเป็นครั้งคราว คนที่มีอาการตื่นตระหนกเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคตื่นตระหนก ซึ่งเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง พวกเขามักจะมีอาการตื่นตระหนกซ้ำ ๆ แบบไม่คาดคิด รวมถึงมีความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่องว่าจะมีอาการซ้ำอีก
อะไรเป็นสาเหตุของอาการตื่นตระหนก
ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของอาการตื่นตระหนก แต่นักวิจัยได้ระบุสถานการณ์ที่มักกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี ซึ่งได้แก่:
- ความเครียดเรื้อรัง – ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความเครียดอย่างอะดรีนาลีนในระดับสูงกว่าปกติ และหลั่งออกมาในช่วงระยะเวลานาน
- ความเครียดแบบเฉียบพลัน (เช่น การประสบเหตุการณ์ร้ายแรง) – ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดทั้งหลายพร้อม ๆ กันในปริมาณมาก
- การหายใจเร็วเกินไปเป็นนิสัย – การฝืนหายใจเร็วทำให้เกิดการตอบสนองทางสรีรวิทยาและอัตราการเต้นหัวใจที่สูงขึ้น อีกทั้งยังรบกวนสมดุลของแก๊สในร่างกายโดยการรับเอาออกซิเจนเข้าไปมากเกินไป
- การออกกำลังกายหนักเกินไป - สำหรับบางคนแล้ว มันจะทำให้เกิดการตอบสนองแบบมากเกินไป ในลักษณะเดียวกับการหายใจเร็วเกินไป
- การรับคาเฟอีนมากเกินไป - คาเฟอีนในกาแฟ ชา และเครื่องดื่มอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้นที่มีฤทธ์สูง
- ความเจ็บป่วย – อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกาย
- การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมแบบฉับพลัน - เช่น การเดินไปในสภาพแวดล้อมที่มีคนหนาแน่น อากาศร้อนหรือไม่ระบาย
- ตัวกระตุ้นอย่างการหวาดกลัว
- ครอบครัวมีประวัติมีอาการตื่นตระหนกหรือวิตกกังวล
- การดื่มแอลกอฮอล์และใช้ยา
- อาการแพ้ - อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด
การพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าอาการซ้ำ ๆ ที่คล้ายอาการจากการตื่นตระหนกทางกายไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วย อันได้แก่:
- เบาหวาน
- หอบหืด
- ปัญหาหูชั้นใน
- ไทรอยด์เป็นพิษ (ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป)
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหลังการคลอด
อาการวิตกกังวลคืออะไร
เวลาที่ความเครียด ความกังวล และความวิตกกังวลไปถึงขีดสุดจะทำให้เกิดอาการวิตกกังวล อาการนี้เป็นผลจากความวิตกกังวลและการกระวนกระวายอยู่ตลอด มากกว่าจะเป็น ‘การโจมตี (attack)’ อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญ เช่น โรคหรือความตายหรือจากเรื่องเล็กน้อยและความกังวลที่พบทุกวัน อาการวิตกกังวลเป็นการแสดงออกของความวิตกกังวลที่แตะระดับสูงสุด ซึ่งล้วนเป็นเหตุทำให้เกิดความกังวล ความกลัว ความหวาดระแวงระดับสูงที่ทำให้เกิดอาการทางกายเช่นเดียวกับอาการตื่นตระหนก แต่สิ่งที่แตกต่างจากอาการตื่นตระหนกคือ อาการวิตกกังวลสามารถคาดเดาได้มากกว่าเนื่องจากจะมีการ ‘ก่อตัว’ ขึ้นระยะหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ควรรู้คือคำว่า ‘อาการวิตกกังวล’ เป็นการบอกถึงอาการโดยไม่มีคำจำกัดความแบบเคร่งครัดเนื่องจากไม่มีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการสำหรับอาการนี้
จะรู้สึกอย่างไรเมื่อมีอาการวิตกกังวล
สั้น ๆ เลยคือไม่ดี อธิบายให้ชัดเจนก็คือ ความวิตกกังวลมีหลายระดับ หลาย ๆ คนมีความวิตกกังวลกันทุกวันและพวกเขาสามารถรับมือได้ดี แต่เมื่อความวิตกกังวลมีการสะสม มันจะรู้สึกรุนแรงและอ่อนเพลีย อาการวิตกกังวลจะเหมือนอาการตื่นตระหนกตรงที่เกิดขึ้นสั้น ๆ แต่ที่ไม่เหมือนกัน คือ อาการวิตกกังวลอาจใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในการสะสมก่อนที่จะมีอาการเกิดขึ้น อาการจะรุนแรงมากกว่าแค่รู้สึกกังวลแต่ก็จะรุนแรงน้อยกว่าอาการตื่นตระหนก สัญญาณเตือนบางประการอาจมีดังนี้:
- รู้สึกกระวนกระวายหรือเครียด
- โฟกัสได้ยากหรือมีช่วงเวลาที่มีความคิดว่างเปล่า
- ระงับความกังวลได้ยาก
- ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ
- มีปัญหาในการนอน (นอนยากหรือหลับต่อเนื่องยาก หรือนอนแบบกระสับกระส่ายและไม่สบาย)
- เหนื่อยเร็ว
- กระสับกระส่าย
สิ่งสำคัญที่ควรรู้คืออาการวิตกกังวลในบางครั้งจะเกิดก่อนอาการตื่นตระหนก ตัวอย่างเช่น คนที่มีอาการตื่นตระหนกบนเครื่องบินอาจมีอาการวิตกกังวลก่อนหน้าในขณะที่เดินทางไปสนามบิน
ทำอย่างไรเมื่อมีอาการตื่นตระหนกหรืออาการวิตกกังวล
คุณสามารถจัดการอาการวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกได้หลายวิธี อาจทำให้ตัวเองใจเย็นลงโดยธรรมชาติด้วยการทำกิจกรรมแบบองค์รวม เช่น เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เล็กน้อย ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตสามารถสอนเรื่องกลไกการรับมือต่าง ๆ ให้คุณได้เช่นกัน
การเข้าใจสัญญาณเตือนอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนก และการใช้เทคนิคด้านล่างสามารถช่วยคุณจัดการกับอาหารเหล่านี้ได้:
- รู้ตัวว่าคุณกำลังประสบกับสิ่งที่เกิดซ้ำ ๆ และบอกตัวเองว่ามันจะผ่านไปโดยเร็ว
- ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ เช่น เทคนิคการหายใจ 4-7-8
- ทำการสำรวจร่างกายเร็ว ๆ เพื่อระบุส่วนของร่างกายที่มีความตึงเครียดและเขย่าบริเวณนั้นเพื่อบรรเทาอาการ
- ฝึกการมีสติหรือทำสมาธิสำหรับประโยชน์ระยะยาว ซึ่งเป็นการปรับหรือลดระบบประสาทความตึงเครียดเพื่อไม่ให้ความวิตกกังวลมีการสะสม
- ฝึกการสร้างจินตภาพแบบสร้างสรรค์ ใช้เวลา 2-3 นาทีในการฝันกลางวันถึงสถานที่เงียบสงบ น่าเพลิดเพลิน เช่น ที่ชายหาดหรือภูเขา ก่อนที่จะกลับไปทำกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ
ถ้าอาการตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลรบกวนความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันของคุณ คุณควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ตรวจเช็คกับแพทย์ของคุณก่อนเพื่อตัดประเด็นว่าอาการนั้นไม่ได้เกิดจากความเจ็บป่วยที่มีอยู่ก่อน จากนั้น สิ่งที่ควรทำคือปรึกษานักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิตที่สามารถช่วยคุณหาที่มาของความวิตกกังวลและสอนกลยุทธ์ในการรับมือเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดอาการเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด