บทความ - สุขภาพจิต, ความยืดหยุ่น - นัลลูรี่

วิธีพูดคุยกับคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย - Naluri

Written by นัลลูรี่ | 28 ส.ค. 2024, 8:58:12

วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก 2024 ในธีม "เปลี่ยนแปลงเรื่องราว" ชวนให้เราก้าวข้ามอคติและความเงียบที่คำว่า “การฆ่าตัวตาย” ทำให้เกิดขึ้น และสร้างการสนทนาที่เปิดกว้างและพร้อมสนับสนุนแทน

"ควรพูดอะไรดี?" "จะเข้าหาคนที่อยากฆ่าตัวตายที่แยกตัวออกไปยังไง?" "พูดหรือทำยังไงให้เขายอมรับความช่วยเหลือ?"

คำถามเหล่านี้ดังก้องในใจของสมาชิก Naluri หลายคนที่ปรึกษาโค้ชสุขภาพของเรา การพูดคุยเรื่องแบบนี้ไม่ง่ายเลย หลายคนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนหรือพูดยังไงดี

แต่หากคนที่คุณรู้จักกำลังส่งสัญญาณว่าอยากจบชีวิตตัวเอง และคุณต้องการรู้วิธีพูดคุยให้กำลังใจอย่างได้ผล เรามีคำแนะนำสำหรับคุณ

 

ทำไมการพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายจึงสำคัญ

  • ก่อนที่เราจะบอกเคล็ดลับการพูดคุย มาทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันการฆ่าตัวตายกันก่อน

    ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า 700,000 คนทั่วโลกในแต่ละปี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศมาเลเซีย มีรายงานว่าการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2022 ในประเทศอินโดนีเซียมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 613 รายในปี 2021 เป็น 826 รายในปี 2022 ส่วนในประเทศไทย อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจาก 6.64 ต่อประชากร 100,000 คนในปี 2019 เป็น 7.97 ต่อ 100,000 คนในปี 2022 สถิติเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการป้องกันการฆ่าตัวตายในภูมิภาคนี้สำคัญมากขึ้นกว่าที่เคย

    แม้ว่าบุคลากรทางการแพทย์และบริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย แต่เราทุกคนก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยเริ่มจากการพูดคุยเรื่องนี้ เหตุผลที่การสนทนาเหล่านี้สำคัญ เช่น:

    • ทำลายอคติ: การพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายอย่างเปิดเผยเป็นวิธีที่ทรงพลังในการลดอคติ หลายคนกลัวที่จะขอความช่วยเหลือเพราะกลัวถูกตัดสินหรือประนาม การเปิดใจคุยจะช่วยทำลายกำแพงเหล่านี้และสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันความทุกข์
    • ให้การสนับสนุนทางอารมณ์: การรู้ว่ามีคนห่วงใยความเป็นอยู่ของตนจริงๆ สามารถลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้อย่างมาก ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวและรู้สึกว่ามีคนเข้าใจมากขึ้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมการรู้วิธีพูดคุยกับคนที่คิดจะฆ่าตัวตายจึงสำคัญมาก
    • สังเกตสัญญาณเตือน: การพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายช่วยให้คุณสังเกตเห็นสัญญาณเตือนและปัจจัยเสี่ยงที่อาจถูกมองข้ามไป เช่น ความรู้สึกสิ้นหวัง การถอนตัวจากกิจกรรมทางสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอย่างรุนแรง การรับรู้สัญญาณเหล่านี้แต่เนิ่นๆ ช่วยให้สามารถเข้าช่วยเหลือและให้การสนับสนุนที่จำเป็นได้ก่อนจะสายเกินไป
    • ส่งเสริมการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ: การสนทนาเรื่องการฆ่าตัวตายยังรวมถึงการแนะนำให้รู้จักแหล่งความช่วยเหลือที่มีอยู่ เช่น สายด่วน นักบำบัด และกลุ่มสนับสนุน (support group) การรู้ว่าจะหันไปพึ่งใครได้บ้างอาจช่วยให้ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม
    • เสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ: งานวิจัยพบว่าเมื่อคนรู้สึกว่าสามารถพูดคุยเกี่ยวกับความคิดของตนได้โดยไม่ต้องกลัวจะถูกตัดสินหรือถูกปฏิเสธ ความไว้วางใจจะเพิ่มมากขึ้นและความสัมพันธ์จะลึกซึ้งมากขึ้น ความไว้วางใจนี้เป็นเหมือนตาข่ายนิรภัยสำหรับคนที่อาจเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ และทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะขอความช่วยเหลือมากขึ้นในอนาคต

 

 

วิธีพูดคุยกับคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย


เตรียมตัวก่อนการสนทนา

ก่อนที่จะเริ่มบทสนทนา สิ่งสำคัญคือต้องรู้วิธีเข้าสู่หัวข้อนี้อย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมให้การสนับสนุน นี่คือตัวอย่างวิธีพูดคุยกับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายอย่างได้ผล:

  • ศึกษาหาความรู้: การเข้าใจสัญญาณเตือน เช่น สิ่งที่ควรสังเกตและวิธีตอบสนอง สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก สัญญาณเตือนทั่วไปประกอบไปด้วย การพูดถึงความอยากตาย ความรู้สึกสิ้นหวัง การถอนตัวจากคนรอบตัว และการมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย
  • จัดเตรียมสภาพแวดล้อม: หาสถานที่เงียบสงบและเป็นส่วนตัวที่จะไม่ถูกรบกวน และจัดให้แน่ใจว่าคุณมีเวลาเพียงพอที่จะพูดคุยโดยไม่รู้สึกเร่งรีบ การมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจและเต็มใจที่จะเปิดใจมากขึ้น เช่น คุณหรืออีกฝ่ายอาจรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะสนทนาในสวนสาธารณะที่เงียบสงบแทนที่จะเป็นในห้องนอน
  • เตรียมความพร้อมทางจิตใจและอารมณ์: การเตรียมพร้อมทางจิตใจและอารมณ์จะช่วยให้คุณจัดการกับการสนทนาได้อย่างละเอียดอ่อนและพร้อมให้การสนับสนุน เป็นปกติที่จะรู้สึกประหม่า แต่อย่าลืมว่าควรเริ่มพูดคุยด้วยความเห็นอกเห็นใจและเปิดกว้าง ลองหายใจลึกๆ สักครู่ก่อนเริ่ม และเตือนตัวเองว่าเป้าหมายหลักคือการรับฟังและให้กำลังใจ เราเตรียม audio guide เกี่ยวกับการปลดปล่อยความวิตกกังวลเอาไว้เพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลายและลดความกังวลทั้งก่อนและหลังการสนทนานี้แล้ว

 

เริ่มต้นบทสนทนา

เมื่อคุณเตรียมตัวพร้อมสำหรับการสนทนาแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าควรพูดอะไรและไม่ควรพูดอะไรกับคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญคือทำใจให้สงบและเตือนตัวเองว่าเป้าหมายคือการรับฟังและให้กำลังใจ

  • แสดงความห่วงใย: ให้พวกเขารู้ว่าความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาสำคัญสำหรับคุณ ประโยคเช่น "ความสุขของเธอสำคัญกับเรานะ - เราพร้อมรับฟังและพร้อมช่วยเธอ" จะช่วยให้พวกเขามั่นใจว่าไม่ได้อยู่ตามลำพัง และคุณใส่ใจความรู้สึกและสถานการณ์ของพวกเขาอย่างจริงใจ
  • ถามคำถามตรงๆ: แม้ว่าคุณอาจรู้สึกไม่สบายใจ แต่การถามว่าพวกเขารู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือกำลังวางแผนจะจบชีวิตตัวเองหรือไม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจะลดโอกาสที่คนๆ นั้นจะทำตามความรู้สึกของตัวเอง เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจและไม่กลัวที่จะคุยเรื่องที่พูดยาก

หากคุณไม่แน่ใจว่าจะถามตรงๆ อย่างไร เรามีตัวอย่างให้:

"เราสังเกตว่าช่วงนี้เธอดูเศร้ามาก เราเป็นห่วง เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังได้ไหม?"

"เมื่อวันก่อนเธอบอกว่ารู้สึกสิ้นหวัง เราเป็นห่วงเธอนะ อยากเข้าใจมากกว่านี้ว่าเธอรู้สึกยังไง"

 

ตอบโต้ระหว่างการสนทนา

การระมัดระวังว่าจะพูดโต้ตอบอะไรระหว่างการสนทนากับคนที่คิดจะฆ่าตัวตายก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน:

  • รับฟังอย่างตั้งใจ: การรับฟังอย่างตั้งใจหมายถึงการอยู่กับปัจจุบันและมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่พวกเขากำลังพูดโดยไม่วางแผนตอบระหว่างที่อีกฝ่ายพูดอยู่ การปล่อยให้พวกเขาพูดจนจบโดยไม่ขัดจังหวะแสดงถึงความเคารพและความใส่ใจ รวมถึงการพยักหน้า การสบตา และการพูดย้ำสิ่งที่พวกเขาพูดเพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าถูกรับฟัง เช่น "ดูเหมือนตอนนี้เธอกำลังเจอเรื่องที่หนักหนามากเลยนะ"
  • แสดงความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจ: แสดงความเห็นอกเห็นใจโดยแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาโดยไม่ตัดสิน ประโยคเช่น "ดูลำบากมากจริงๆ" หรือ "เรารู้สึกแย่แทนเธอมากเลยที่ต้องเจอเรื่องนี้" สามารถทำให้ประสบการณ์ของพวกเขามีค่า รู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลงและรู้สึกว่ามีคนเข้าใจมากขึ้น
  • ถามคำถามปลายเปิด: การกระตุ้นให้คนแสดงความรู้สึกอย่างเต็มที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจความรู้สึกและประสบการณ์ของพวกเขา การถามคำถามปลายเปิดเชิญชวนให้บทสนทนาลึกซึ้งและมีความหมายมากขึ้น และแสดงให้เห็นว่าคุณสนใจความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขาอย่างจริงใจ เช่น "ตอนนี้เราจะช่วยเธอได้ยังไงบ้าง?" และ "เธอเริ่มรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?"
  • หลีกเลี่ยงการตอบสนองที่เป็นอันตราย: บางครั้งแม้เราจะมีเจตนาดีที่สุด เราอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดโดยไม่ตั้งใจ พยายามหลีกเลี่ยงการลดความสำคัญของความรู้สึกของพวกเขา การเสนอทางแก้ไขแบบรวดเร็ว หรือการตั้งข้อสันนิษฐาน คำพูดเช่น "มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น" หรือ "แค่คิดในแง่บวกสิ" อาจเป็นการปัดความรู้สึกและไม่มีประโยชน์ แทนที่จะอย่างนั้น ให้เวลาพวกเขาได้แสดงความรู้สึกอย่างเต็มที่และรับฟังโดยไม่ขัดจังหวะ
  • มีความอดทน: บ่อยครั้งที่คนอาจไม่รู้สึกปลอดภัยหรือพร้อมที่จะเล่าความคิดและความรู้สึกของพวกเขาให้เราฟัง ไม่ควรบังคับให้พวกเขาพูดเรื่องที่รู้สึกไม่สบายใจ เพราะอาจทำให้รู้สึกอึดอัดและสูญเสียความไว้วางใจ แทนที่จะทำอย่างนั้น คุณควรติดต่อสอบถามเป็นประจำและใช้เวลาอยู่ด้วยกัน แม้จะอยู่เงียบๆ ก็ตาม คุณสามารถเปิดช่องให้พวกเขาด้วยคำพูดเช่น "ถ้ายังไม่พร้อมคุยตอนนี้ก็ไม่เป็นไร เราเข้าใจ อยากให้รู้ว่าเราพร้อมฟังเธอเสมอนะ เมื่อไหร่ก็ได้" ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจว่าคุณเคารพความรู้สึกของของพวกเขา และเป็นการสร้างพื้นที่ให้เข้ามาพักพิงได้เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะเปิดใจ

การเสนอความช่วยเหลือ

เมื่อคุณใช้เวลารับฟังและทำความเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาแล้ว การเสนอความช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญ และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องของคุณสามารถส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อเส้นทางสู่การฟื้นตัวของพวกเขา คุณสามารถให้ความช่วยเหลือที่มีค่าและมีประสิทธิภาพได้ด้วยวิธีต่อไปนี้:

  • ให้ข้อมูลแหล่งช่วยเหลือ: เมื่อคนกำลังทุกข์ใจ การหาแหล่งช่วยเหลืออาจเกินความสามารถของพวกเขา คำแนะนำของคุณและข้อมูลเกี่ยวกับบริการช่วยเหลือไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความสบายใจอย่างมาก แต่ยังช่วยให้พวกเขารู้สึกได้รับการสนับสนุนและมีพลังให้ก้าวต่อไปสู่การฟื้นฟูจิตใจ

สำหรับข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแหล่งช่วยเหลือเหล่านี้ คุณสามารถอ้างอิงถึงชุดคู่มือสร้างความเข้าใจและป้องกันการฆ่าตัวตายของ Naluri ซึ่งรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับสายด่วน บริการทางข้อความ และบริการสนับสนุนที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

  • สนับสนุนให้ขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ: การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นขั้นตอนสำคัญในการฟื้นตัวสำหรับหลายคน ที่ Naluri เราภูมิใจที่สามารถให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญได้หลายทาง เช่น:
  • ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง: ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและคอยติดต่อหลังจากการสนทนาครั้งแรก เช่น ติดตามสอบถามเป็นประจำเพื่อช่วยให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและได้รับการสนับสนุน ให้พวกเขารู้ว่าคุณอยู่ตรงนี้เพื่อพวกเขา ไม่ใช่แค่ในตอนนี้ แต่ตลอดการเดินทางเพื่อผ่านความยากลำบากของพวกเขา

การดูแลตัวเอง

 

การสนับสนุนคนที่กำลังต่อสู้กับความคิดฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งและมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่มันก็สามารถสร้างความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าในขณะที่คุณกำลังให้การสนับสนุนที่สำคัญแก่คนอื่น คุณเองก็ต้องดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเองด้วย

การดูแลตัวเองช่วยให้มั่นใจได้ว่าคุณจะสามารถอยู่เคียงข้างพวกเขาได้ด้วยสุขภาพที่ดีและวิธีการที่ยั่งยืน สำหรับคำแนะนำโดยละเอียดเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง รวมถึงวิธีที่ปฏิบัติได้จริงและแนวคิดเชิงทฤษฎี คุณสามารถอ่านบทความของเราเกี่ยวกับทฤษฎีความพร่องในการดูแลตัวเองของ Orem

 

บทสรุป

การพูดคุยเรื่องการฆ่าตัวตายกับคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอาจเป็นเรื่องน่ากลัว แต่มันเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งที่สามารถช่วยชีวิตได้จริงๆ ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกนี้ เรามาร่วมกันน้อมรับแนวคิด "การเปลี่ยนแปลงเรื่องราว" ด้วยการทำลายกำแพงแห่งความเงียบและการอคติ และเริ่มต้นบทสนทนาที่ยากลำบากเหล่านี้กันเถอะ

อย่าลืมว่าเป้าหมายของการสนทนาเหล่านี้ไม่ใช่การตอบปัญหาทั้งหมด แต่เป็นการเสนอตัวรับฟัง เสนอหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ และการสนับสนุนที่มีประโยชน์ การเรียนรู้วิธีพูดคุยกับคนที่คิดจะฆ่าตัวตายทำให้คุณสามารถมีบทบาทสำคัญในเส้นทางสู่การเยียวยาของพวกเขา

หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเครียด ทีมโค้ชสุขภาพจิตของ Naluri พร้อมให้คำปรึกษาผ่านแอป Naluri และเว็บไซต์ รวมถึงการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว สำหรับความช่วยเหลือเร่งด่วน สายด่วนและบริการข้อความตลอด 24 ชั่วโมงของเรามีให้บริการฟรีในหลายภาษาสำหรับทุกคน