Skip to content
Managing Workplace Relationships_ The Secret to Making Friends (and Thriving) at Work
นัลลูรี่2 min read

การสร้างและบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานไม่เพียงแต่ช่วยให้คุณมีเพื่อนร่วมงานที่ดี แต่ยังช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในอาชีพได้มากขึ้นอีกด้วย

การสร้างมิตรภาพในวัยผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในที่ทำงานที่แต่ละคนมีบทบาทและความสามารถในการเข้าสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้การสร้างมิตรภาพเกิดขึ้นได้ยากขึ้น แต่การมีมิตรภาพในที่ทำงานก็ยังมีความสำคัญ เพราะมันสามารถช่วยทั้งในเรื่องส่วนตัวและการทำงานได้มาก

ที่ทำงานเป็นสถานที่ที่ดีในการสร้างความสัมพันธ์ เพราะเรามักใช้เวลาส่วนใหญ่กับเพื่อนร่วมงาน การมีมิตรภาพในที่ทำงานไม่เพียงแต่ช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น แต่ยังส่งผลดีต่อชีวิตส่วนตัวของคุณอีกด้วย มิตรภาพที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี เต็มไปด้วยความสุขและความพึงพอใจ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความสำเร็จในอาชีพ แต่ยังเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคุณอีกด้วยนะ

แล้วจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานได้อย่างไร? บทความนี้จะพาคุณไปค้นพบเคล็ดลับในการสร้างความสัมพันธ์เพื่อความผูกพันธ์ในระยะยาวกับเพื่อนร่วมงาน พร้อมเรียนรู้วิธีจัดการกับความขัดแย้งอย่างมืออาชีพ เพื่อให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข!

 

จากเพื่อนร่วมงานสู่พันธมิตร: ทำไมความสัมพันธ์ในที่ทำงานถึงสำคัญ

เมื่อเราต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความพึงพอใจในงาน แต่ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกันและส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าพนักงานที่รู้สึกผูกพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจะมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นและลดอัตราการลาออกอีกด้วย

มิตรภาพในที่ทำงานยังเป็นสิ่งที่ให้เกิดความก้าวหน้าจากการงานอาชีพได้ด้วย เพราะคุณอาจจะได้รับคำแนะนำและได้ที่ปรึกษาเป็นเพื่อนร่วมฃานของคุณเอง มีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ไปจนถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ นอกจากนี้ การที่ความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานสามารถช่วยส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวหรือยืดหยุ่นในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะเพื่อนร่วมงานที่ไว้วางใจได้สามารถเป็นที่ปรึกษา ช่วยกันคิดและแลเปลี่ยไอเดียใหม่ ๆ และช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย

การมีความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานไม่เพียงแต่ทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น แต่ยังช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างคนต่างซัพออร์ตกัน สามารถทำงานเป็นทีม รวมถึงช่วยในการปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ สู่ความสำเร็จในอนาคตได้ด้วย ทั้งในแง่ของผลการทำงานและการพัฒนาองค์กรในระยะยาว

พัฒนาทักษะการสร้างความสัมพันธ์: เริ่มต้นจากเพื่อนร่วมงานสู่ความสำเร็จ

การสร้างมิตรภาพในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องยากหรือต้องฝืนใจเลย

เพราะบางครั้งสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทักทายกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบอย่างเป็นมิตร มีประสบการณ์ร่วมกัน หัวเราะขบขันไปด้วยกัน หรือการพูดคุยสั้น ๆ ในระหว่างพักเบรก หรือแม้แต่แค่เดินสวนกัน น่าแปลที่สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้อย่างเป็นธรรมชาติจนเกิดความผูกพันธ์

การพัฒนาทักษะการสร้างความสัมพันธ์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณสร้างคอนเนคชั่นที่จะผูกพันธ์กับคุณในระยะยาวทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการงานของคุณและชีวิตส่วนตัว คุณจะเข้าใจและอ่านภาษากายของผู้อื่นได้ กล้าที่จะเริ่มต้นบทสนทนากับเพื่อนร่วมงานของคุณ หรือกล้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท ซึ่งล้วนเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณได้คอนเนคกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างแนบเนียน

กุญแจสำคัญคือการสร้างมิตรภาพโดยไม่ฝืนความเป็นตัวเอง เพราะความสัมพันธ์เพื่อความผูกพันธ์ในระยะยาวต้องใช้เวลาในการสร้าง ผ่านความเคารพซึ่งกันและกันและประสบการณ์ที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ลองดูเคล็ดลับง่าย ๆ เหล่านี้ ในการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เพื่อให้คุณก้าวไปสู่ความสำเร็จและความสุขในการทำงาน

การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คุณสามารถทำได้ทุกวัน เริ่มต้นด้วยการ:

  • เข้าถึงง่าย: โดยแสดงภาษากายที่เปิดกว้าง ยิ้มแย้ม และมีท่าทีเป็นมิตรในการพูดคุย เพื่อให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกสบายใจและอยากเข้าหาคุณ
  • อ่านภาษากายของผู้อื่น: ก็เป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้คุณเลือกเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มบทสนทนา สังเกตว่าเพื่อนร่วมงานพร้อมพูดคุยหรือกำลังจดจ่อกับงาน เพื่อไม่ให้การพูดคุยกลายเป็นการรบกวน
  • กล้าเริ่มต้น: ความสัมพันธ์ด้วยการชวนเพื่อนร่วมงานไปดื่มกาแฟ ทานมื้อกลางวันร่วมกัน หรือพูดคุยสั้น ๆ ระหว่างพักจากการประชุม สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างความผูกพันและทำให้คุณรู้จักกันมากขึ้น
  • การสร้างความสัมพันธ์อย่างมีกลยุทธ์: เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัท โครงการข้ามแผนก หรืองานพบปะในอุตสาหกรรม เพื่อขยายความสัมพันธ์และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอาชีพ
  • คอนเนคกับความสัมพันธ์: ด้วยการทบทวนบทสนทนาเก่า ๆ จำรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน และทักทายพวกเขาเป็นระยะ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนและแน่นแฟ้น

สร้างความมั่นใจในการสนทนา: วิธีง่าย ๆ สำหรับชาวอินโทรเวิร์ต

เคยรู้สึกเหมือนไม่อยากเข้าสังคมหรือไม่? ไม่ค่อยสบตาหรือไม่กล้าพูดคุยกับคนอื่น? ถ้าใช่ อยากให้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว ความกังวลเรื่องการเข้าสังคม (Social Anxiety) อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนมีอะไรบางอย่างมารั้ง หรือมีกำแพงมากั้น ทำให้คุณไม่สนุกกับการเข้าสังคมออกไปทางอึดอัดด้วยซ้ำ แต่ข่าวดีคือ คุณจะสามารถก้าวข้ามความกังวลนี้ไปได้ เพราะเพียงแค่คุณอ่านมาถึงหัวข้อนี้ก็ถือว่าคุณเริ่มต้นได้ดีแล้ว!

เราอยากชวนคุณมาดูเทคนิคและแนวคิดง่าย ๆ ที่ช่วยให้คุณรับมือกับการเข้าสังคมได้อย่างมั่นใจและสบายใจมากขึ้นแม้ว่าคุณจะเป็นคนอินโทรเวิร์ตก็ตาม เพื่อให้คุณสามารถสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันธ์ได้โดยไม่ต้องแบกความเครียดหรือความอึดอัดนี้ไว้ ไม่ว่าคุณจะต้องไปงานสังสรรค์กับบริษัทที่มีเพื่อนร่วมงานต่างแผนกที่คุ้นไม่คุ้นเคย การพบปะเพื่อนๆ หรือต้องร่วมกิจกรรมของบริษัท สิ่งสำคัญคือคุณลองหาวิธีที่เหมาะกับตัวคุณดูค่ะ จากไอเดียเหล่านี้เพื่อค่อย ๆ คลายความกังวลและสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันธ์ได้ในระยะยาว:

  • เริ่มต้นเล็ก ๆ: ด้วยการฝึกสบตาหรือทักทายคนใกล้ตัวก่อน เป็นวิธีที่ดีในการสร้างความคุ้นเคยและลดความกังวลในการเข้าสังคม การทักทายด้วยรอยยิ้มหรือคำพูดสั้น ๆ เช่น "สวัสดี" หรือ "วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง" ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจมากขึ้น และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหาสถานการณ์ทางสังคม
  • เตรียมตัวล่วงหน้า: โดยคิดหัวข้อสนทนาง่าย ๆ ที่คุณสามารถใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ก็ช่วยลดความกดดันได้ เช่น หัวข้อเกี่ยวกับงาน เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือข่าวสารที่น่าสนใจ การมีหัวข้อสนทนาในใจจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจมากขึ้นเมื่อต้องเริ่มบทสนทนา
  • โฟกัสที่การฟัง: การฟังผู้อื่นก็เป็นวิธีที่ดีในการลดความกังวล แทนที่จะคิดมากเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะพูด การตั้งใจฟังและแสดงความสนใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจะช่วยให้บทสนทนาดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้อีกด้วย
  • ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ: เช่น ค่อย ๆ เพิ่มระดับความชาเลนจ์ด้วยการชวนเพื่อนร่วมงานทานข้าวหรือเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเล็ก ๆ การเริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก ๆ จะช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจและค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหาสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือค่อยๆขยายไปหาเพื่อนกลุ่มใหญ่มากขึ้น
  • ให้กำลังใจตัวเอง: จำไว้ว่าทุกคนเคยรู้สึกกังวล และความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ การให้อภัยตัวเองและมองว่าทุกประสบการณ์เป็นบทเรียนจะช่วยให้คุณก้าวข้ามความกังวลได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

 

การบริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงาน: เส้นกั้นบางๆระหว่างมิตรภาพและความเป็นมืออาชีพ

การปรับตัวกับคนในที่ทำงานอาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อเราต้องสร้างความบาลานซ์ระหว่างความเป็นเพื่อนและความเป็นมืออาชีพ แม้ว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานจะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้นและทำให้เรามีความสุขในการทำงานมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมรักษาเรื่องการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เว้นระยะห่าง และคงความเป็นมืออาชีพไว้เสมอ

มาลองอ่านเคล็ดลับเหล่านี้กัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ในที่ทำงานของคุณยังคงความเป็นมืออาชีพ:

  • สร้างสมดุลระหว่างความเป็นมืออาชีพและมิตรภาพ: เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานไว้ได้ เริ่มต้นด้วยการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนระหว่างมิตรภาพและบทบาททางวิชาชีพของคุณ เพื่อให้ทั้งสองด้านไม่ปะปนกันจนเกิดความสับสนหรือปัญหาตามมา
  • ฝึกการตระหนักรู้ในตนเองและความรับผิดชอบ: ลองถามตัวเองว่าเพื่อนร่วมงานของคุณรับคำติชมเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจังหรือไม่? หรือพวกเขาคาดหวังการปฏิบัติเป็นพิเศษเพราะความสนิทสนม? การเข้าใจจุดนี้จะช่วยให้คุณรักษาความเป็นมืออาชีพได้อย่างเหมาะสม
  • ทำความเข้าใจบทบาทของตัวเองและผู้อื่นก็เป็นกุญแจสำคัญ: สื่อสารให้ชัดเจนว่างานและหน้าที่รับผิดชอบต้องมาก่อนมิตรภาพเสมอ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

เคล็ดลับก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างมิตรภาพและความเป็นมืออาชีพในที่ทำงาน

การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เส้นแบ่งของความรับผิดชอบอาจไม่ชัดเจนเมื่อมิตรภาพทับซ้อนกับหน้าที่การงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ลำเอียง” หรือ “มีการเลือกปฏิบัติ” ในที่ทำงาน

สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงาน อาจรับคำติชมเชิงสร้างสรรค์เป็นเรื่องส่วนตัว หรือคาดหวังการปฏิบัติเป็นพิเศษหรือไม่ การสร้างสมดุลระหว่างมิตรภาพและความเป็นมืออาชีพเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันความขัดแย้งและรักษาสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมในที่ทำงาน

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น Naluri Executive Coach Fazilah Yusof ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ดังต่อไปนี้:

สถานการณ์ที่ 1: การเลือกที่รักมักที่ชังหรือความลำเอียงในที่ทำงาน

 ตัวอย่าง: หัวหน้าทีมมอบหมายงานสำคัญหรือโปรโมตเพื่อนสนิทโดยไม่พิจารณาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมคนอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่บรรยากาศการทำงานที่ขาดความไว้วางใจและขวัญกำลังใจลดลง

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: หากหัวหน้าหรือผู้จัดการสนิทกับลูกทีมบางคนมากเกินไป อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า มีการลำเอียง ซึ่งส่งผลให้เพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ รู้สึกถูกมองข้าม หรือมองว่าการตัดสินใจในที่ทำงานขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าความสามารถที่แท้จริง

สถานการณ์ที่ 2: ความยากลำบากในการให้เพื่อนร่วมงานรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง

ตัวอย่าง: ผู้จัดการลังเลที่จะให้ฟีดแบ็คเชิงสร้างสรรค์กับเพื่อนสนิทในทีม ทำให้ผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพโดยรวมของทีม

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: หากความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานเข้ามามีบทบาทมากเกินไป การรักษามาตรฐานความเป็นมืออาชีพอาจกลายเป็นเรื่องยาก การหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่ยากลำบากอาจทำให้ ประสิทธิภาพของทีมลดลง และสร้างความไม่พอใจให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ที่ถูกคาดหวังให้รักษามาตรฐานที่สูงกว่า

 หากคุณต้องการแนวทางในการสื่อสารและกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนกับเพื่อนร่วมงาน ลองใช้ประโยคเหล่านี้:

1. หากเพื่อนร่วมงานต้องการคุยเรื่องส่วนตัว แต่คุณต้องการรักษาความเป็นมืออาชีพ: “ระหว่างการประชุม เรามาพยายามโฟกัสที่เรื่องงานกันนะคะ/ครับ เพื่อรักษาบรรยากาศที่เป็นมืออาชีพ”

2. หากเพื่อนที่ทำงานมาขอความคิดเห็น แต่รับคำติชมเป็นเรื่องส่วนตัว: “ฉันอยากให้คุณเข้าใจว่าฟีดแบ็คนี้เกี่ยวกับงาน ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเลยนะ มิตรภาพของเราสำคัญกับฉันมาก เช่นเดียวกับการรักษามาตรฐานการทำงานที่ดี”

3. หากเพื่อนร่วมงานขอให้ช่วยเรื่องหน้าที่การงานที่คุณรู้สึกไม่สบายใจ: “ฉันอยากให้แน่ใจว่าเรากำลังทำสิ่งที่ยุติธรรมกับทุกคนในทีม ดังนั้นฉันจะมอบหมายงานตามความสามารถและความพร้อมของแต่ละคนค่ะ/ครับ”

4. หากเพื่อนร่วมงานกำลังบ่นเกี่ยวกับงาน แต่คุณต้องการหลีกเลี่ยงพลังงานด้านลบ: “ในฐานะเพื่อน ฉันสนับสนุนคุณ 100% แต่ในฐานะเพื่อนร่วมงาน ฉันต้องแน่ใจว่าเราทุกคนสามารถปฏิบัติตามภาระหน้าที่ของเราได้นะ”

 

บริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงาน: เปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความร่วมมือ

ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติของทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน แทนที่จะหลีกเลี่ยง การเรียนรู้วิธีจัดการกับความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ที่เป็นลบให้กลายเป็นโอกาสในการเติบโตได้ ตั้งแต่เรื่องเข้าใจผิดเล็ก ๆ ไปจนถึงความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น หากจัดการอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

มุมมองที่ดีในการรับมือกับความขัดแย้งคือการเข้าใจว่าไม่มีวิธีใดวิธีหนึ่งที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เราได้รวบรวมกลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในการแก้ไขความขัดแย้ง พร้อมทั้งวิธีเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นก้าวสำคัญสู่ความสำเร็จ

แก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ

การหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่ยากลำบากเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในที่ทำงาน แต่การปล่อยปัญหาไว้โดยไม่จัดการ อาจทำให้สถานการณ์บานปลายและนำไปสู่ความไม่พอใจที่สะสม วิธีที่ดีที่สุดคือเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างตรงไปตรงมาและให้เกียรติซึ่งกันและกัน การพูดคุยอย่างเปิดใจจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจมุมมองของกันและกัน รวมถึงสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันด้วย

รักษาความเป็นมืออาชีพ

บางครั้งการแก้ไขความขัดแย้งอาจเต็มไปด้วยอารมณ์และความร้อนแรง แต่สิ่งสำคัญคือการควบคุมสติและมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายที่ดีในระยะยาว เตือนตัวเองให้โฟกัสที่ข้อเท็จจริงและพฤติกรรม แทนที่จะกล่าวหาอีกฝ่ายเป็นการส่วนตัว เป้าหมายสุดท้ายคือการหาทางออก ไม่ใช่ทำให้ความรู้สึกของกันและกันหมดความหมาย

รู้จักสังเกตว่าเมื่อใดที่มิตรภาพในที่ทำงานเริ่มส่งผลกระทบด้านลบ

บางครั้ง ถึงแม้จะพยายามอย่างดีที่สุด แต่มิตรภาพในที่ทำงานก็อาจกลายเป็นเรื่องอึดอัดใจ เมื่อถึงจุดนั้น ลองถามตัวเองว่าความสัมพันธ์นี้ส่งผลกระทบต่องานของคุณอย่างไร อาจเป็นเพราะอีกฝ่ายละเมิดขอบเขตของคุณ หรือมักจะขอความช่วยเหลือเกินควร หากมิตรภาพนี้ทำให้เกิดความตึงเครียด อาจถึงเวลาที่ต้องเว้นระยะห่างระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว 

Naluri Executive Coach Fazilah Yusof แนะนำแนวทางการรับมือกับความขัดแย้งในที่ทำงาน ดังนี้:

1. ใช้ “I” Statements เพื่อแสดงความกังวลโดยไม่กล่าวโทษ: การสื่อสารด้วย “I” Statements (ฉันรู้สึกว่า…) ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้น

  • ตัวอย่าง: “ฉันรู้สึกว่าถูกมองข้ามเมื่อ…” แทนที่จะเป็น “คุณไม่สนใจฉันเลย”

2.  ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening): การรับฟังอย่างจริงใจและพยายามทำความเข้าใจเจตนาของอีกฝ่าย จะช่วยให้หาจุดร่วมและหาทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน

  • ตัวอย่าง: “ฉันรู้สึกว่ามีความเข้าใจผิดในการสื่อสารของฉัน ความตั้งใจของฉันคือ [ชี้แจงจุดยืน] และฉันให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันของเรา มาหาวิธีเดินหน้าต่อไปด้วยกันนะ”

3. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังคงความเป็นมืออาชีพในการกำหนดขอบเขต: การสื่อสารที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา แสดงถึงความเป็นมืออาชีพและความเคารพในตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานปฏิบัติต่อคุณด้วยความเคารพเช่นกัน

  • ตัวอย่าง: “ฉันให้ความสำคัญกับมิตรภาพและการทำงานร่วมกันของเรา ในขณะเดียวกัน ฉันก็ต้องแน่ใจว่าฉันสามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาได้ มาหาทางสนับสนุนกันและกันในขณะที่ยังคงรักษาหน้าที่ของเราให้สมดุลกันนะ”

 

การรักษามิตรภาพในที่ทำงาน

ตอนนี้เมื่อคุณได้เรียนรู้วิธีสร้างมิตรภาพในที่ทำงานแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการรักษาความสัมพันธ์เหล่านั้นให้ยั่งยืน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น ๆ การรักษามิตรภาพในที่ทำงานต้องอาศัยความพยายาม การพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุขดิบเป็นระยะ ๆ และเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงาน เช่น การทานข้าวกลางวันหรือกิจกรรมสังสรรค์ของบริษัท ก็สามารถช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นได้

การแสดงออกว่าคุณอยู่เคียงข้างเพื่อนร่วมงานเป็นวิธีที่ดีในการสร้างการสนับสนุนและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน การร่วมยินดีกับความสำเร็จของกันและกัน การให้ความช่วยเหลือในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเติบโตทางอาชีพ ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างมิตรภาพในที่ทำงานให้แข็งแกร่งขึ้น

หากคุณรู้สึกสบายใจ อาจลองหาโอกาสเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานนอกเวลางาน เช่น การเล่นกีฬา หรือไปทานข้าวเย็นด้วยกันหลังเลิกงาน กิจกรรมที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้เปิดโอกาสให้คุณได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

บทสรุป

ความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่ดีต่อสุขภาพคือความสัมพันธ์ที่ช่วยส่งเสริมกันและให้การสนับสนุนโดยไม่มีอคติ หากคุณยังสงสัยว่าควรมีเพื่อนในที่ทำงานหรือไม่ คำตอบคือ ควรมี มิตรภาพในที่ทำงานสามารถ และควร เติบโตได้ แต่จะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นเท่าเทียมกันในการตั้งขอบเขตที่ชัดเจนและให้ความสำคัญกับเส้นทางอาชีพของตนเอง ท้ายที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ในที่ทำงานควรเป็น ทรัพย์สิน ไม่ใช่ ภาระ

หากคุณกำลังมองหากลยุทธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และสุขภาพจิต เข้าไปสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ Naluri ที่คุณสามารถเชื่อมต่อกับโค้ชด้านอาชีพของ Naluri เพื่อรับคำปรึกษาส่วนตัวแบบตัวต่อตัว ดูแลสุขภาพอาชีพของคุณตั้งแต่วันนี้!

You may also like