เวลาที่คนพูดถึงการเอาชนะภาวะหมดไฟ พวกเขามักแนะนำให้จุดเทียนหอม มาส์กหน้า ไปเที่ยว และเข้าสปา แน่นอนว่าความเข้าใจแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำเพื่อดูแลตัวเองนั้นมีความสำคัญ แต่มันก็ยังไม่พอ กิจกรรมเหล่านี้สามารถทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุของภาวะหมดไฟ
ลองมองว่าคุณไปเข้าสปาหนึ่งวันเพื่อผ่อนคลาย แต่พอถึงวันจันทร์ คุณก็ยังรู้สึกเหนื่อยล้าและเครียด ฟังดูคุ้น ๆ ไหม
ภาวะหมดไฟเป็นมากกว่าความรู้สึกเครียดหรือกดดันทำอะไรไม่ถูก สิ่งที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟเริ่มมาจากการอยู่ภายใต้ภาวะความเครียดสูงเป็นเวลานาน บวกกับความรู้สึกงานล้นมือ ขาดแรงจูงใจ และมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ
ดังนั้น เพื่อเป็นการจัดการภาวะหมดไฟจริงๆ เราจำเป็นต้องจัดการกับสาเหตุของภาวะหมดไฟให้ได้ ซึ่งหมายถึงการพิจารณาปัจจัยอย่างปริมาณงาน ความช่วยเหลือในเรื่องงาน และวัฒนธรรมในที่ทำงาน กิจกรรมเพื่อดูแลตัวเองเหล่านี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญา แต่มันเป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งชิ้นเท่านั้น เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเราด้วย
ในบทความนี้ เราจะสำรวจว่าทำไมความเข้าใจแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อดูแลตัวเองจึงไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ และบอกวิธีเอาชนะภาวะหมดไฟที่สามารถทำได้จริง
ข้อจำกัดของกิจกรรมเพื่อ “ดูแลตัวเอง” คืออะไร
แม้ว่าการดูแลตัวเองจะเป็นเรื่องสำคัญ เราจำเป็นที่จะต้องรับรู้ถึงข้อจำกัดและเหตุผลที่วิธีการเหล่านี้มักไม่ช่วยแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ เหตุผลคือ:
- วิธีแก้ปัญหาในระดับผิวเผิน: แม้กิจกรรมเพื่อดูแลตัวเองสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดและความเหนื่อยล้าได้ชั่วคราว มันมักไม่ได้จัดการกับสิ่งที่เป็นสาเหตุของภาวะหมดไฟ เช่น ปริมาณงานที่จัดการไม่ได้ หรือระบบดูแลช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ เหมือนกับการใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยไม่ทำการฆ่าเชื้อก่อน มันอาจทำให้รู้สึกดีขึ้นสักครู่หนึ่ง แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่
- ปัญหาการเข้าถึง: ข่าวร้ายคือ ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเท่ากันในการดูแลตัวเอง กิจกรรมเพื่อดูแลตัวเองหลาย ๆ อย่าง เช่น การไปเที่ยวหรือการเข้าสปาล้วนต้องใช้เวลา เงิน หรือทรัพยากรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถจ่ายได้ บางคนต้องทนรู้สึกถึงภาวะหมดไฟมากยิ่งขึ้นเพราะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการได้
- ความกดดันให้ทำกิจกรรมเพื่อดูแลตัวเอง: น่าประหลาดใจว่าความคิดเรื่องการดูแลตัวเองในบางครั้งก็เพิ่มความเครียดให้กับเรา เราอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำกิจกรรมเป็นล้านอย่างเพื่อดูแลตัวเองให้ดี แต่การพยายามอะไรมากเกินไปก็สามารถทำให้เรารู้สึกกดดันจนทำอะไรไม่ถูกและเหนื่อยล้ามากกว่าเดิม แทนที่จะรู้สึกดึขึ้น
วิธีรับมือกับภาวะหมดไฟ
ตอนนี้เราพอเข้าใจแล้วว่าทำไมกิจกรรมเพื่อการดูแลตัวเองอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขภาวะหมดไฟได้ ต่อไปจะเป็นวิธีที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อเอาชนะภาวะหมดไฟได้จริง
- กำหนดขอบเขต : กำหนดขอบเขตอย่างชัดเจนทั้งชั่วโมงการทำงาน เวลาพัก และเวลาส่วนตัว รู้จัก‘ปฏิเสธ’ ความรับผิดชอบเพิ่มเติมถ้างานของคุณล้นมืออยู่แล้ว และมอบหมายงานต่อในโอกาสที่ทำได้
- จัดลำดับความสำคัญของงาน: ดูงานทั้งหมดในมือและถามตัวเองว่า “มีอะไรที่ฉันต้องให้ความสนใจตอนนี้บ้าง และอะไรบ้างที่ยังรอได้” โฟกัสที่งานที่มีความสำคัญก่อน และไม่ลังเลที่จะขอความช่วยเหลือในคราวจำเป็น
- ขอความช่วยเหลือ: อย่าเผชิญกับภาวะหมดไฟเพียงลำพัง ขอคำชี้แนะและความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน พี่เลี้ยง หรือโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน บางครั้งการมีคนรับฟังหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ก็สามารถสร้างความแตกต่างให้คุณได้ มาเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ที่กำลังจะมีขึ้นของเราในหัวข้อ “เติมพลังชีวิต: เอาชนะภาวะหมดไฟและค้นพบความสุขอีกครั้ง” เพื่อค้นพบกลยุทธ์ที่จะช่วยให้คุณเอาชนะภาวะหมดไฟ
- สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ : ถ้ามีเรื่องงานอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกไม่ดี ลองหาเวลาที่เหมาะสมในการเล่าความคิดของคุณให้ผู้จัดการได้รับรู้ บอกข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาหรือการปรับปรุงที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณและป้องกันการเกิดภาวะหมดไฟ
- กระชับความสัมพันธ์ : คนที่คุณทำงานด้วยอาจเป็นมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน พวกเขาอาจเป็นพันธมิตรหรือเพื่อนของคุณ การสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่เพียงดีต่อจิตใจ แต่ยังจะเป็นตัวช่วยในวันแย่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการคุยเล่นช่วงพักเบรกหรือการสังสรรค์หลังเลิกงาน ช่วงเวลาเหล่านี้จะสร้างชุมชนที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
- หาความหมายและเป้าหมายในงานของคุณ: บางครั้งการย้อนนึกถึง “เหตุผล” เบื้องหลังการทำงานของคุณก็สามารถจุดประกายความหลงใหลของคุณกลับขึ้นมาได้ มันคือการมองเห็นว่าความพยายามคุณมีส่วนสำคัญต่อสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น และการมองเห็นความหมายของตัวเองในงานที่รับผิดชอบอยู่ เมื่อคุณเห็นว่าสิ่งที่ทำสอดคล้องกับความเชื่อของคุณ มันก็จะเปลี่ยนงานให้กลายเป็นการเดินทางที่มาเติมเต็มชีวิต
สิ่งสำคัญคือ แม้ว่ากิจกรรมเพื่อดูแลตัวเองจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาวะโดยรวมอย่างแน่นอน มันก็เป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งเท่านั้น การใช้วิธีแบบองค์รวม เช่น การกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน การจัดลำดับความสำคัญของงาน การขอความช่วยเหลือ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การกระชับความสัมพันธ์ที่มีความหมาย และ การมองหาเป้าหมายในงานของคุณ จะทำให้คุณสามารถเอาชนะภาวะหมดไฟและสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนมากขึ้นได้
จำไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่เพียงลำพังในเส้นทางนี้ ทำนัดหมายรับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวกับโค้ชสุขภาพจิตของนัลลูรี่สำหรับคำแนะนำและการสนับสนุนเพิ่มเติม ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือแบบทันที คุณสามารถติดต่อ แคร์ไลน์ & แชทไลน์ของนัลลูรี่ ได้ตลอดเวลา มาเริ่มก้าวแรกสู่การเอาชนะภาวะหมดไฟและสร้างวัฒนธรรมการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมไปด้วยกันนะ