บทความ - สุขภาพจิต, ความยืดหยุ่น - นัลลูรี่

เคล็ดลับสำหรับสุขภาพหัวใจ: วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัวใจ

เขียนโดย นัลลูรี่ - 4 ส.ค. 2023, 6:08:05

หัวใจของคุณทำให้คุณมีชีวิตอยู่ได้ หัวใจทำหน้าที่นำเลือดที่มีออกซิเจนจากปอดไปสู่ทุกส่วนของร่างกายผ่านเส้นเลือดแดงและส่งเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำกลับมาที่ปอดผ่านเส้นเลือดดำเพื่อเริ่มกระบวนการทั้งหมดซ้ำตามการเต้นของหัวใจแต่ละครั้ง การมีหัวใจสุขภาพดีเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะอยู่ได้ยืนยาวและได้อย่างมีคุณภาพอย่างไร

โรคหัวใจเป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายรวมถึงอาการใด ๆ ที่มีผลต่อหัวใจ แม้ว่าจะมีโรคหัวใจหลายชนิด โดยบางโรคเป็นมาแต่กำเนิด (มีขึ้นตั้งแต่เกิด) บางโรคเป็นโรคทางพันธุกรรม (ความเสี่ยงที่สืบทอดมา) โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์และสามารถป้องกันได้ แม้ว่าคุณใช้ชีวิตที่ผ่านมาอย่างไม่สมบูรณ์แบบ การเปลี่ยนแปงให้มีไลฟ์สไตล์เชิงบวกมีบทบาทสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรงและมีโอกาสทำให้คุณมีอายุขัยยืนยาวขึ้น

โรคหัวใจ 5 โรคที่พบได้บ่อยและป้องกันได้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคนี้เกิดจากการสะสมพลัค (plaque) ในเส้นเลือดแดง (รู้จักกันว่าภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง) ซึ่งทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและตีบลงทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการส่งเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็น

  • กล้ามเนื้อหัวใจตาย

หรือรู้จักกันว่าหัวใจวาย ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการรบกวนการไหลเวียนของเลือดไปสู่หัวใจ โดยมากเกิดจากการสะสมของพลัค (plaque) เลือดแข็งตัว หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเสียหายและทำลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อกระแสไฟฟ้าขนาดย่อยซึ่งประสานหน้าที่การทำงานของหัวใจ ทำงานไม่ดี หัวใจอาจเต้นเร็วเกินไป (ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ) ช้าเกินไป (ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ)   หรือไม่เป็นจังหวะ (ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว)

  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ

หัวใจมีกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ อาจมีความยืดและบาง (โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ) หนาขึ้นในลักษณะที่ขัดขวางการคลายตัว (โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ) หรือแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อที่เป็นแผล (โรคกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวมากกว่าปกติ) ภาวะนี้จะทำให้เลือดแข็งตัวในหัวใจและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว

เวลาที่หัวใจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น จะไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังปอดเพื่อเปลี่ยนเป็นออกซิเจนหรือไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายได้ ภาวะหัวใจล้มเหลวค่อย ๆ เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงหรือเวลาที่หัวใจอ่อนแรงหรือแข็งตัว

อาการโรคหัวใจที่พึงระวัง

โรคหัวใจมีอาการหลากหลาย และในบางโรคจะไม่มีอาการเลย อาการที่มักพบได้แก่ เจ็บหรือไม่สบายหน้าอก หายใจติดขัด หน้ามืด รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือมีแก๊ส เหงื่อออก ชาหรือเป็นเหน็บที่แขนขา คลื่นไส้ ปวดคอหรือหลัง และท้องอืด

อาการอาจมีความแตกต่างกับระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยจากการศึกษาพบว่าผู้หญิงอาจมีอาการที่แตกต่างออกไปและมักจะมีความวิตกกังวล ความผิดปกติด้านการนอน เหนื่อยอ่อนอย่างไม่มีสาเหตุ เป็นลม และวิงเวียน ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงอาการบางส่วน

สาเหตุของโรคหัวใจ

โรคหัวใจเกิดขึ้นจากความเสียหายที่เกิดกับหัวใจ ทำให้ปริมาณจ่ายออกซิเจนและสารอาหารไปยังหัวใจลดลง การศึกษาหัวใจฟรามิงแฮม ซึ่งเป็นการศึกษาระบาดวิทยาที่ติดตามกลุ่มคนในช่วงเวลาหนึ่งและศึกษาการพัฒนาและลักษณะเฉพาะของโรคหัวใจ โดยสามารถระบุปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยรวมถึงการเลือกดำเนินไลฟ์สไตล์ที่ไปเพิ่มโอกาสการเป็น ได้แก่:

  • ความดันโลหิตสูง
  • คอเลสเตอรอลสูง
  • เบาหวาน
  • โรคอ้วน
  • การไม่เคลื่อนไหวทางกาย
  • การทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  • สูบบุหรี่
  • ระดับความเครียดและวิตกกังวลสูง
  • การบริโภคแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนที่มากเกินไป
  • การใช้สารเสพติด

วิธีลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ

การรักษาเคยเป็นหนทางเดียวที่ใช้หลังจากอาการโรคหัวใจเริ่มส่งผลต่อสุขภาพอย่างเช่นเวลาที่เกิดหัวใจวาย ตอนนี้มีการเน้นย้ำมากขึ้นถึงการป้องกันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่ ตรรกะความคิดมีอยู่ง่าย ๆ ว่า:

ถ้าคุณกำลังสูบบุหรี่หรือใช้ยาสูบอยู่ ให้หยุด ควันบุหรี่ลดระดับออกซิเจนในเลือดของคุณ ซึ่งเท่ากับเพิ่มความดันโลหิตด้วย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นในการส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย

ถ้าคุณเป็นคนชอบนั่งดูทีวี ให้ลุกขึ้นมาเดินประมาณ 20-30 นาทีทุกวัน กิจกรรมทางกายเป็นยาครอบจักรวาลที่ช่วยควบคุมน้ำหนัก จัดการระดับน้ำตาลในเลือด และปรับความดัน แม้เพียงกิจกรรมเล็ก ๆ อย่างการทำสวน ขึ้นลงบันได พาเด็กไปเดินสวน และพาสุนัขไปเดินเล่นก็สามารถเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงได้ และช่วยให้สูบฉีดเลือดไปยังทุกเซลล์ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าคุณกำลังทานอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันอิ่มตัวสูงอยู่ ให้เลือกทานอาหารที่ดีต่อหัวใจมากขึ้น อาทิ ผักที่รับประทานส่วนใบ พืชตระกูลถั่ว และถั่ว เนื้อไขมันน้อย โฮลเกรน และไขมันดีต่อสุขภาพ เช่น อโวคาโดและน้ำมันมะกอกซึ่งสามารถป้องกันหัวใจและจัดคอเลสเตอรอลได้

ถ้าคุณมีนิสัยการนอนที่ไม่ดี ให้กำหนดการนอนเป็นเรื่องสำคัญ คนที่นอนไม่พอจะเพิ่มความเสี่ยงมีน้ำหนักตัวเกิน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากการต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ร่างกายและการทำงานของร่างกายอ่อนแอลง

ถ้าคุณมองการตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นเรื่องเล็ก ให้หาเวลาไปตรวจโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ การตรวจเช็คเป็นประจำช่วยระบุอาการสุขภาพที่มีอยู่ได้ อาทิ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สามารถทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้

เราเคยคิดว่าต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หลังจากที่มีเหตุการณ์สุขภาพรุนแรง แต่มีคำพูดที่ว่า “การป้องกันดีกว่าแก้” แม้มันอาจฟังดูซ้ำซาก น่ากลัว หรือแม้กระทั่งวุ่นวาย แต่การเลือกสิ่งที่ดีกว่าในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่คุณสามารถควบคุมความเสี่ยงสุขภาพส่วนตัวของคุณได้ อีกทั้ง มันจะช่วยทำให้โรคปัจจุบันไม่แย่ไปกว่าเดิมและช่วยลดอาการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานของคุณอีกด้วย

บทความนี้นำเสนอโดยโค้ชสุขภาพจิตนัลลูรี่ นัลลูรี่เปิดโอกาสให้คุณพัฒนาไลฟสไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ ได้ผลลัพธ์สุขภาพที่มีความหมาย และแข็งแรงขึ้นและมีความสุขมากขึ้นผ่านการโค้ชเฉพาะบุคคล โปรแกรมที่มีโครงสร้าง บทเรียนที่เรียนรู้ด้วยตนเอง และเครื่องมือพร้อมอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ดาวน์โหลดแอปนัลลูรี่วันนี้หรือติดต่อ hello@naluri.life สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้การโค้ชเพื่อสุขภาพและการบำบัดแบบดิจิทัลเพื่อเป็นคุณที่สุขมากกว่า และสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น