แรงงานในเอเชียกำลังปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดงานมากขึ้น ขณะเดียวกัน พนักงานจำนวนไม่น้อยก็ตั้งใจจะทำงานในบทบาทปัจจุบันให้นานกว่าที่เคยผ่านมา การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ที่ทำงานมีความหลากหลายทางอายุ ซึ่งประกอบด้วย Gen Z, Millennials และ Gen X
แม้ว่าความหลากหลายเชิงอายุดังกล่าวจะนำมาซึ่งโอกาสอันดีในการทำงานร่วมกัน การให้คำปรึกษาจากผู้มีประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ แต่ก็ทำให้เกิดความท้าทายในการดูแลและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพจิตที่แตกต่างกันในแต่ละเจเนอเรชัน
สำหรับทีม HR ที่ต้องการรักษาพนักงานที่มีความสามารถ สร้างความผูกพันในองค์กรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนผลิตภาพ ผ่านกลยุทธ์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ การทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของสุขภาพจิตตามช่วงอายุเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ภูมิทัศน์ด้านสุขภาพจิตในกลุ่มเจเนอเรชันต่าง ๆ ในเอเชีย
งานวิจัยล่าสุดของ Naluri เผยให้เห็นว่า เกือบครึ่ง (49%) ของพนักงานประจำในเอเชียกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในการเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต
ข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชัน โดย 61% ของ Gen Z เผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตในระดับสูง ตามมาด้วย 44% ของ Millennials24% ของ Gen X ที่รายงานปัญหาในลักษณะเดียวกัน
ผลกระทบทางธุรกิจจากการขาดการสนับสนุนสุขภาพจิตที่เหมาะสม
สุขภาพจิตที่ไม่ได้รับการใส่ใจอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ การลาออกของพนักงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง และต้นทุนประกันสุขภาพที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สร้างภาระมหาศาลต่อผลประกอบการของบริษัท
ต่อไปนี้คือรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของความท้าทายเหล่านี้ต่อองค์กร:
- ภาวะหมดไฟ: พนักงานที่ประสบภาวะหมดไฟมีแนวโน้ม มากกว่าถึง 3.4 เท่า ที่จะมองหางานใหม่ภายในปีถัดไป
- ต้นทุนการลาออก: การสูญเสียและการทดแทนพนักงานเป็นภาระทางการเงินอย่างมากต่อองค์กร โดยอาจสูงถึง 2 เท่าข องเงินเดือนประจำปีของพนักงาน
- ผลกระทบต่อประสิทธิภาพ: ทั่วโลก ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าส่งผลให้ สูญเสียวันทำงานกว่า 12 พันล้านวันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในแง่ของประสิทธิภาพที่สูญเสียไป
- ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ: ค่ารักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคาดว่าจะ เพิ่มขึ้นถึง 12.3% ภายในปี 2025 ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการบริการสุขภาพจิตที่ขยายตัวมากขึ้น
ความท้าทายเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนในที่ทำงานที่ประกอบด้วยบุคลากรหลายเจเนอเรชัน เนื่องจากความต้องการและความคาดหวังด้านสุขภาพจิตอาจแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ
การทำความเข้าใจความแตกต่างด้านสุขภาพจิตของพนักงานในแต่ละเจเนอเรชัน
แต่ละเจเนอเรชันมีประสบการณ์ มุมมอง และค่านิยมเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน การตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้จะช่วยให้ทีม HR ปรับแต่งโปรแกรมสนับสนุนได้อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของแรงงานที่หลากหลายภายในองค์กร
Gen Z (1997–2012)
ในฐานะเจเนอเรชันแรกที่เติบโตอย่างเต็มที่ในยุคดิจิทัล Gen Z นำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ให้กับที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมดิจิทัลยังสร้างความท้าทายที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต ความก้าวหน้าในอาชีพ และความเป็นอยู่โดยรวม
ความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน Gen Z
- ความกดดันในช่วงต้นของอาชีพ: ความไม่มั่นคงทางการเงินมักสร้างแรงกดดันให้กับพนักงาน Gen Z ตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน ส่งผลให้การแบ่งเวลาระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน และอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ หลายคนรู้สึกว่าต้องทำงานหนักเกินไปหรือรับบทบาทหลายอย่างเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
- การก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่: เมื่อขาดการชี้แนะหรือคำปรึกษาที่เพียงพอ มืออาชีพวัยหนุ่มสาวจำนวนมากเผชิญปัญหาในการปรับตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และเข้าสู่ตลาดงานอย่างราบรื่น ส่งผลให้หลายคนรู้สึกขาดทิศทางหรือถูกกดดันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
- แรงกดดันจากโซเชียลมีเดีย: การเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาทำให้เกิดการเปรียบเทียบตนเองมากขึ้น บั่นทอนความมั่นใจในตนเอง และกระตุ้นความวิตกกังวลต่อทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
- การจัดการอารมณ์: อัตราการเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมทำร้ายตนเอง และความคิดฆ่าตัวตาย กำลังเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่ม Gen Z ขณะเดียวกัน การสนับสนุนจากที่ทำงานอาจมีจำกัดและสภาพแวดล้อมการทำงานที่เร่งรีบในปัจจุบันยิ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการพัฒนาทักษะการเผชิญปัญหาหรือขอความช่วยเหลือ
กลยุทธ์การสนับสนุนสำหรับพนักงาน Gen Z
- การต้อนรับและระบบพี่เลี้ยง: จัดให้มีโปรแกรมต้อนรับและพี่เลี้ยงอย่างเป็นระบบ โดยจับคู่พนักงาน Gen Z กับบุคลากรที่มีประสบการณ์สูง เพื่อให้คำแนะนำด้านอาชีพ สร้างความมั่นใจ และเสริมสร้างความผูกพันภายในองค์กร
- การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ: เสนอโปรแกรมโค้ชสุขภาพที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เน้นการจัดการความเครียด โภชนาการ และกิจกรรมทางกาย เพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตที่สมดุลและแข็งแรงยิ่งขึ้น
- เครื่องมือเพิ่มความรู้ทางการเงิน: จัดหาเครื่องมือและทรัพยากรเพื่อเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับพนักงานรุ่นใหม่ เช่น คู่มือการจัดทำงบประมาณ เวิร์กช็อป หรือการเข้าถึงที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อช่วยลดความเครียดด้านการเงินและส่งเสริมความมั่นคงในระยะยาว
- การสนับสนุนในภาวะวิกฤติ: สร้างความมั่นใจว่าบริการด้านสุขภาพจิตมีพร้อมและเข้าถึงได้ง่าย จัดเตรียมตัวเลือกการสนับสนุนที่หลากหลายให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล เช่น โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (EAPs) การบำบัดทั้งในองค์กรหรือผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมง
แม้ว่าเจเนอเรชันนี้จะเปิดกว้างและยอมรับประเด็นสุขภาพจิตได้มากกว่า แต่พวกเขามักลังเลที่จะขอความช่วยเหลือเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเงิน ประเด็นตีตรา หรือประสบการณ์เชิงลบจากการบำบัด ในความเป็นจริง มีเพียง 29% ของ Gen Z ในภูมิภ (APAC) าคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้นที่รู้สึกสบายใจในการพูดถึงสุขภาพจิต
ด้วยการตอบสนองปัญหาเหล่านี้ผ่านกลยุทธ์ที่ออกแบบเฉพาะ องค์กรสามารถช่วยให้พนักงานกลุ่ม Gen Z ปรับตัวเข้าสู่ที่ทำงานได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น และสร้างทักษะการรับมือที่ดีขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางจิตและความยืดหยุ่นในระยะยาว
Millennial (1981–1996)
ในฐานะเจเนอเรชันที่ได้เห็นพัฒนาการทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างรวดเร็ว Millennials ต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่าง ทั้งในที่ทำงานและนอกเหนือจากนั้น หลายคนตกอยู่ระหว่างเป้าหมายในอาชีพกับความรับผิดชอบส่วนตัว จนต้องทำหลายบทบาทพร้อมกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่โดยรวม
ความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงานรุ่นมิลเลนเนียล
- ความไม่มั่นคงหรือการหยุดชะงักในอาชีพ: Millennials ส่วนใหญ่เข้าสู่ตลาดงานในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำหรือไม่แน่นอน ทำให้การเติบโตในสายอาชีพเป็นไปได้ช้าลง และมีความมั่นคงทางการเงินต่ำ หลายคนจึงรู้สึกติดขัดหรือไม่ได้รับการประเมินค่าอย่างที่ควร
- ภาระการดูแลผู้อื่น: Millennials ที่อยู่ในสถานะ “กลุ่มคนที่ต้องดูแลทั้งพ่อแม่และลูก” (sandwich generation) มักต้องรับผิดชอบทั้งการดูแลพ่อแม่ที่สูงวัยและบุตรที่ยังเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดภาระด้านอารมณ์และการเงินอย่างมีนัยสำคัญ
- ความเครียดทางการเงิน: ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อ และภาระหนี้สินจากค่าเล่าเรียนหรือที่อยู่อาศัย ล้วนเป็นปัจจัยก่อความเครียดแก่ Millennials นอกจากนี้ แรงกดดันในการออมเงินเพื่ออนาคต—ไม่ว่าจะเป็นการเกษียณ การศึกษาของบุตร หรือเหตุฉุกเฉิน—ยังทำให้เกิดความวิตกกังวลทางการเงินเพิ่มขึ้น
- ภาวะหมดไฟและปัญหาสุขภาพ: Millennials มักถูกเรียกว่า “เจเนอเรชันหมดไฟ” เนื่องจากหลายคนเริ่มประสบปัญหาสุขภาพจากการทำงานหนักและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน หากที่ทำงานขาดการสนับสนุนหรือความยืดหยุ่น ภาวะนี้อาจทวีความรุนแรงจนกลายเป็นวงจรของความเครียด ความเหนื่อยล้า และสุขภาพที่เสื่อมถอย
กลยุทธ์สนับสนุนพนักงานยุคมิลเลนเนียล
- ทางเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่น: จัดให้มีตัวเลือกอย่างการทำงานทางไกล รูปแบบไฮบริด หรือการปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน เพื่อช่วยให้ Millennials จัดสรรเวลาได้ดีขึ้นระหว่างงานกับภาระส่วนตัว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องรับบทบาทดูแลสมาชิกในครอบครัว กำลังเรียนต่อ หรือมีข้อผูกพันอื่น ๆ
- สวัสดิการด้านสุขภาวะ: ขยายสวัสดิการเกินกว่าประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยรวมถึงโปรแกรมสำหรับสุขภาพกาย จิต และการเงิน เช่น การสนับสนุนฟิตเนส บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เวิร์กช็อปโภชนาการ และการให้คำแนะนำทางการเงิน เพื่อส่งเสริมสุขภาวะโดยรวม
- การดูแลเชิงป้องกัน:จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี และการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเอง การสนับสนุนมาตรการดูแลแบบเชิงรุกจะช่วยลดความเสี่ยงในระยะยาวและการลาป่วย
- การพัฒนาอาชีพ: สร้างเส้นทางความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ผ่านการฝึกอบรมด้านภาวะผู้นำ โปรแกรมพี่เลี้ยง และการพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เช่น เวิร์กช็อปหรือการรับรองคุณวุฒิ
แม้ว่า Millennials มักให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง และพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้อย่างเปิดเผย แต่การตีตรา ในเชิงวัฒนธรรม—โดยเฉพาะในสังคมเอเชียที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเป็นหลัก—ยังคงขัดขวางหลายคนจากการขอความช่วยเหลือ>
ด้วยการตอบโจทย์ปัญหาอย่างความสมดุลระหว่างงานและชีวิต สุขภาพทางการเงิน และการเติบโตในอาชีพ องค์กรจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกลุ่มพนักงาน Millennials ช่วยลดอัตราการหมดไฟ เพิ่มความผูกพัน และรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้อยู่กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง
Gen X (1965–1980)
ในขณะที่ Gen X กำลังอยู่ในช่วงสูงสุดของอาชีพการงานพร้อมกับมีภาระหน้าที่ทางครอบครัวและการเงิน หลายคนกลับรู้สึกกดดันมากขึ้น ระยะนี้ของชีวิตมักมาพร้อมกับความเครียดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องบริหารบทบาทผู้นำ ดูแลครอบครัว และกังวลเกี่ยวกับสุขภาวะในอนาคต
ความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของพนักงาน Gen X
- ความเครียดจากตำแหน่งผู้นำและสถานที่ทำงาน: พนักงาน Gen X หลายคนดำรงตำแหน่งอาวุโส มีภาระความรับผิดชอบสูง แรงกดดันในการสร้างผลงาน การบริหารทีม และการรักษาความสามารถในการแข่งขันในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมักนำไปสู่ความเครียดในระดับสูง
- ภาระการดูแลผู้อื่น: คล้ายกับ Millennials พนักงาน Gen X มักต้องดูแลพ่อแม่สูงวัย ขณะเดียวกันก็ยังมีลูกที่อาจอยู่ในวัยเล็กหรือกำลังเปลี่ยนผ่านสู่วัยผู้ใหญ่ บทบาทที่ซ้อนทับนี้สร้างแรงกดดันทางอารมณ์และทำให้การรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวยากขึ้น
- การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในที่ทำงาน: แม้ Gen X จะเป็นกลุ่มที่เริ่มใช้เทคโนโลยีในยุคแรก แต่จังหวะการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่รวดเร็วอาจกลายเป็นภาระ การตามให้ทันเครื่องมือ แพลตฟอร์ม และกระบวนการใหม่ ๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจ โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นที่ถนัดเทคโนโลยีมากกว่าเข้ามาทำงานร่วมกัน
- ความกังวลเกี่ยวกับการเกษียณ: พนักงาน Gen X หลายคนที่อยู่ในช่วงอายุ 40–50 ปีขาดความมั่นใจทางการเงินเกี่ยวกับการเกษียณ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัว การดูแลพ่อแม่ การผ่อนบ้าน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทำให้มีเงินเหลือออมเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต
- ปัญหาสุขภาพ: คนในเจเนอเรชันนี้ยังเผชิญกับอัตราการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากอายุ ไลฟ์สไตล์ และความเครียด เมื่อผนวกกับภาระงานและความรับผิดชอบส่วนตัว ยิ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิต นำไปสู่ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความเหนื่อยล้า
กลยุทธ์การสนับสนุนสำหรับพนักงาน Gen X
- นโยบายการลางานที่ยืดหยุ่น: นำเสนอนโยบายลางานที่ยืดหยุ่น รวมถึงสิทธิการลางานเพื่อดูแลครอบครัวหรือวันลาพักผ่อนแบบได้รับค่าจ้าง เพื่อช่วยให้ Gen X จัดการชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ: จัดหาโปรแกรมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ปรับให้เหมาะกับความต้องการของบุคคล เน้นการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์อย่างยั่งยืน เช่น การเข้าถึงโค้ชสุขภาพ การจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับฟิตเนสและโภชนาการ ตลอดจนทรัพยากรสำหรับการจัดการความเครียด ซึ่งสามารถช่วย Gen X รับมือกับปัญหาสุขภาพเฉพาะด้านได้
- การฝึกอบรมและยกระดับทักษะ: จัดให้มีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง เช่น คอร์สออนไลน์หรือเซสชันอบรมตัวต่อตัว เพื่อช่วยให้พวกเขายังคงมีศักยภาพและรู้สึกสบายใจในการใช้เครื่องมืออย่างแพลตฟอร์มบริหารโครงการ
- การวางแผนเกษียณ: จัดเตรียมทรัพยากรอย่างที่ปรึกษาทางการเงิน เวิร์กช็อปด้านการเกษียณ และเครื่องมือปฏิบัติจริง เพื่อแนะนำพนักงานเกี่ยวกับการลงทุน การออม และการวางแผนทรัพย์สิน การดำเนินงานเหล่านี้ช่วยลดความเครียดด้านการเงินและสร้างความอุ่นใจในอนาคต
เนื่องจากเติบโตมาในยุคที่สุขภาพจิตไม่ค่อยถูกพูดถึง Gen X อาจขาดความรู้หรือรู้สึกอึดอัดในการขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพ หลายคนจึงพึ่งพาวิธีดูแลตัวเอง เป็นหลักในการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพจิต
การตอบสนองความต้องการหลัก ๆ เช่น ความยืดหยุ่นในการดูแลครอบครัว การสนับสนุนด้านสุขภาพ การพัฒนาทักษะ และความมั่นคงทางการเงิน จะช่วยให้องค์กรสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาวะของพนักงาน Gen X อย่างแท้จริง การให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มความพึงพอใจและประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังช่วยคงบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์สูงให้อยู่กับองค์กรต่อไป
การเชื่อมช่องว่างระหว่างรุ่นในการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต
การสร้างกลยุทธ์ด้านสุขภาวะในที่ทำงานที่ครอบคลุมและปรับตัวได้ จำเป็นต้องเชื่อมช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน พร้อมกับนำเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม ทีม HR สามารถเริ่มต้นด้วยการระบุอุปสรรคที่พนักงานเผชิญร่วมกัน ก่อนที่จะจัดสรรทรัพยากรที่ตรงจุดเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละเจเนอเรชัน
เพื่อสนับสนุนพนักงานทุกช่วงวัย ลองพิจารณากลยุทธ์เหล่านี้:
- จัดให้มีตัวเลือกการบำบัดทางไกล และ กลุ่มสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้การเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพจิตสะดวกยิ่งขึ้น
- สร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ในการพูดคุยเรื่องสุขภาพจิต พร้อมทั้งสื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อลดอคติและการตีตรา
- จัดหา แนวทางสนับสนุนที่หลากหลาย ตั้งแต่เครื่องมือบริหารความเครียด ไปจนถึงทรัพยากรด้านสุขภาพทางการเงิน
ด้วยการตอบสนองต่อความท้าทายเฉพาะของแต่ละช่วงวัย และดำเนินนโยบายที่ครอบคลุม องค์กรสามารถสร้างชุมชนการทำงานที่พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการสนับสนุน—ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในช่วงใดของชีวิตก็ตาม
หากต้องการข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะล่าสุดของสุขภาพจิตในภูมิภาค โปรดอ่านบทความแนวโน้มสุขภาพจิตในเอเชียปี 2024 ของเรา